เตือน!! 5 กลุ่มโรคควรระวังช่วง “หน้าฝน”
ช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน เป็นอีกฤดูที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลายชนิด เพราะด้วยความชื้นและความอบอ้าว ทำให้แบคทีเรีย เชื้อโรค ไวรัสต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี สามารถแพร่ระบาดได้ง่าย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วย ตามประกาศการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝน แบ่งเป็น 5 กลุ่มดังนี้ค่ะ
1. โรคติดต่อทางระบบหายใจ
ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากในเด็กเล็ก ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุ
ป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
2. โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ
ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาลาเรีย และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
ป้องกันได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
3. โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร
ได้แก่ โรคอหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม อีกสาเหตุคือจากแมลงวันเป็นพาหะนำโรคค่ะ
และโรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากการสัมผัสเลือด หรือน้ำลายของผู้ป่วยค่ะ
ป้องกันได้ด้วย รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วยค่ะ
4. โรคติดต่ออื่นๆ
ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมค่ะ สาเหตุเกิดจากสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย
และโรคเลปโตสไปโรสิส สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแผล รอยแถลก เยื่อบุกตา ปากและจมูกค่ะ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนานๆ
5. ภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง
ได้แก่ อันตรายจากสัตว์มีพิษ ภัยจากฟ้าผ่า และอุบัติเหตุทางถนน
- อันตรายจากสัตว์มีพิษ
ควรดูแลจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้รกเพราะจะเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ ควรระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้
- ภัยจากฟ้าผ่า
เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง ควรหลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดฝนตกฟ้าคะนอง เพราะจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้
- อุบัติเหตุทางถนน
ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากฝนตกถนนจะลื่น และยังลดทัศนวิสัยการมองเห็นในการขับขี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : thaihealth.or.th
ขอขอบคุณภาพสวยๆจาก : internet
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น